|
|
|
|
น้ำมันหอมระเหยเป็นสารอินทรีย์ที่พืชผลิตขึ้นตามธรรมชาติ เก็บไว้ตามส่วนต่าง ๆ เช่น กลีบดอก ผิวของผล เกสร ราก เปลือกของลำต้น หรือยางที่ออกมาจากเปลือก มีองค์ประกอบทางเคมีที่สลับซับซ้อนและแตกต่างกันนับสิบร้อยชนิด น้ำมันมีลักษณะเป็นของเหลวไม่เหนียวเหนอะหนะเหมือนน้ำมันพืช มีกลิ่นหอมระเหยง่าย เวลาที่ได้รับความร้อน อนุภาคเล็ก ๆ ของน้ำมันหอมระเหยจะระเหยออกมาเป็นไอทำให้เราได้กลิ่นหอม กลิ่นของน้ำมันหอมระเหยในส่วนของดอกไม้มีบทบาทสำคัญในการช่วยดึงดูดแมลงมาผสมเกสร ปกป้องการรุกรานจากศัตรู และรักษาความชุ่มชื้นแก่พืช ประโยชน์ต่อมนุษย์ น้ำมันหอมระเหยมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค บรรเทาอาการอักเสบ หรือลดบวม คลายเครียด หรือกระตุ้นให้สดชื่น ทั้งขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด
น้ำมันหอมระเหยมีผลต่อร่างกายต่าง ๆ มากมาย แตกต่างกันตามแต่ละชนิด ดังนี้
- มีผลกระตุ้นการไหลเวียนของระบบเลือด ช่วยให้ร่างกายสามารถขจัดของเสียได้มากขึ้น
- ช่วยเสริมภูมิต้านทานร่างกายและชะลอการเหี่ยวย่นของผิว
- มีผลต่อระบบการทำงานของน้ำเหลือง เม็ดเลือดขาว ที่ขจัดเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างการ ช่วยรักษาอาการอักเสบ
- ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดเมื่อย และกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ
- มีผลต่อระบบย่อยอาหาร กล้ามเนื้อในระบบย่อยอาหาร ช่วยขับลม ลดแก๊ส
- มีผลต่อระบบประสาท กระตุ้นความจำ อารมณ์ ช่วยผ่อนคลายหรือกระตุ้นความรู้สึก
- มีผลต่อระบบสืบพันธ์ ฮอร์โมนเพศ เช่นรักษาสมดุลของรอบเดือน หรือกระตุ้นความรู้สึกทางเพศ
- มีผลต่อโครงสร้างร่างกาย รักษาแผล สร้างเซลล์ใหม่
- มีผลต่อการรักษาผิว ลดเลือนรอยแผลเป็นหรือใช้สมานแผลเพื่อป้องกันรอยแผลเป็น
|
|
|
วิธีการกลั่นและสกัดน้ำมันหอมระเหย |
|
|
การสกัดกลิ่นหอมออกจากพืชหอมแต่ละชนิดนั้น ได้มีการทำมาเป็นเวลานานแล้ว โดยในสมัยโบราณจะนิยมนำดอกไม้หอมมาแช่น้ำทิ้งไว้ และนำน้ำที่มีกลิ่นหอมนั้นไปใช้ดื่มหรืออาบ ต่อมาได้มีการพัฒนาวิธีการสกัดกลิ่นหอมเพื่อให้ได้กลิ่นหอม หรือ น้ำมันหอมระเหยที่มีคุณภาพและปริมาณสูงสุด วิธีการดังกล่าวมีหลายวิธี การที่จะเลือกใช้วิธีใดนั้น ต้องพิจารณาลักษณะของพืชที่จะนำมาสกัดด้วย วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยสามารถแบ่งออกได้ดังนี้
1. การกลั่นโดยใช้น้ำ (Steam Distillation)
การกลั่นน้ำมันหอมระเหยด้วยวิธีการกลั่นด้วยไอน้ำ หรือ Steam Distillation เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุดและใช้ในการกลั่นน้ำมันหอมระเหยเกือบทั้งหมดที่มีการผลิตขึ้น วิธีการกลั่นจะเป็นการผ่านไอน้ำจากเครื่องกำเนิดไอน้ำเข้าไปในหม้อควบคุมความดันที่บรรจุวัตถุดิบของพืชที่นำมากลั่นน้ำมันหอมระเหย เมื่อความร้อนจากไอน้ำกระทบกับวัตถุดิบ ไอน้ำก็จะนำพาน้ำมันหอมระเหยที่อยู่ในพืชชนิดนั้น ๆ ออกมาผ่านท่อเกลียวที่หล่อเลี้ยงด้วยน้ำเย็นเพื่อให้เกิดการลดอุณหภูมิและควบแน่นกลายเป็นของเหลว หลังจากนั้นของเหลวจากการควบแน่นที่ได้ก็จะไหลผ่านท่อควบแน่นเข้าสู่หลอดแก้ว ได้น้ำมันหอมระเหยที่แยกชั้นออกจากน้ำ แล้วจึงนำน้ำมันหอมระเหย (Pure Essential Oil) และน้ำสกัดน้ำมันหอมระเหย (Floral Water หรือ Hydrosol) ที่ได้ เก็บใส่ภาชนะเพื่อตรวจสอบคุณภาพต่อไป
วิธีการกลั่นน้ำมันหอมระเหยด้วยไอน้ำนี้มีข้อดีคือ วิธีการกลั่นและอุปกรณ์ไม่ยุ่งยากซับซ้อน สามารถใช้ได้กับพืชแทบทุกชนิด และน้ำมันหอมระเหยที่ได้มีคุณภาพดี มีความบริสุทธิ์ 100% หรือแม้แต่ สารสำคัญบางชนิดในน้ำมันหอมระเหยบางชนิด จริง ๆ แล้วไม่ได้มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่จะเกิดขึ้นภายใต้กระบวนการกลั่นด้วยไอน้ำ เช่น สาร Chamazulene ซึ่งเป็นสารมีสีน้ำเงินที่เป็นสารสำคัญในน้ำมันหอมระเหย German Chamomile โดยปกติจะไม่ได้มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่จะเกิดขึ้นในกระบวนการกลั่นน้ำมันหอมระเหยด้วยไอน้ำเท่านั้น อย่างไรก็ดี การกลั่นด้วยไอน้ำก็มีข้อเสียอยู่บ้างคือกระบวนการนี้จะต้องใช้ไอน้ำที่มีความร้อน จึงไม่เหมาะกับวัตถุดิบที่มีสารธรรมชาติสำคัญที่ถูกทำลายได้ง่ายเมื่อเจอกับความร้อน เช่น สารสำคัญบางชนิดในดอกมะลิ (Jasmine) จะสลายไปเมื่อเจอกับความร้อน จึงทำให้ไม่สามารถใช้กระบวนการกลั่นด้วยไอน้ำในการผลิตน้ำมันหอมระเหยจากดอกมะลิได้ ในอนาคต ปัญหานี้อาจถูกแก้ไขได้ด้วยการใช้ระบบการกลั่นภายใต้แรงดันสูงเพื่อลดอุณภูมิของไอน้ำให้น้อยลง แต่ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นด้วย ดังนั้น การสกัดกลิ่นหอมจากดอกมะลิหรือพืชชนิดอื่น ๆ ที่มีปัญหาข้างต้นจึงมีการนำกระบวนสกัดด้วยวิธีการอื่นมาใช้แทน เช่น การสกัดด้วยตัวทำละลาย หรือสกัดด้วยคาร์บอนไดออกไซด์
น้ำมันหอมที่ได้จากการสกัดด้วยวิธีการกลั่นด้วยไอน้ำ จะถูกเรียกว่า "น้ำมันหอมระเหย" หรือ "Pure Essential Oil"
2. การสกัดด้วยวิธีการบีบเย็น (Expression หรือ Cold Pressed หรือ Mechanically Pressed)
การน้ำมันหอมระเหยหรือน้ำมันหอมด้วยวิธี Cold Pressed หรือ Mechanically Pressed เกือบทั้งหมดใช้ในการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากผิวของพืชตระกูลส้ม เช่นส้ม มะนาว เลมอน มะกรูด เบอร์กามอท แมนดาริน และอื่น ๆ วิธีการสกัดคือการนำผิวของผลจากพืชแต่ละชนิดมาใส่ในหม้อขนาดใหญ่ แล้วกดด้วยแท่นไฮดรอลิกโดยใช้แรงกดสูง เมื่อแท่นไฮดรอลิกบีบลงบนวัตถุดิบ ทำให้เซลล์ผิวของพืชเกิดการแตกตัวให้น้ำมันออกมาลงในภาชนะที่รองรับเอาไว้ วิธีการใช้ไฮดรอลิกแบบนี้มีข้อดีคือไม่มีความร้อนเกิดขึ้นในกระบวนการบีบ ซึ่งแตกต่างกับการใช้การบีบแบบเครื่องบีบเกลียวหมุน หรือ Screw Pressed ซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนและอาจทำลายคุณภาพของน้ำมันที่สกัดได้ จริง ๆ แล้วน้ำมันสกัดด้วยวิธีนี้จะไม่เรียกว่าน้ำมันหอมระเหย เพราะว่าน้ำมันที่ได้จากการสกัด จะมีสารประกอบอื่น ๆ ที่ไม่ละลายในน้ำมันหรือระเหยไม่ได้อยู่ด้วย หากเรียกให้ถูกต้องตามหลักสากลแล้ว น้ำมันสกัดจากพืชทุกชนิดด้วยวิธีนี้ จะต้องเรียกว่า "Essence" ไม่ใช่ "Essential Oil" แต่ว่าเพื่อให้เข้าใจไม่สับสนมากไปนัก หลาย ๆ ที่จึงมักใช้คำว่า "น้ำมันหอมระเหย" หรือ "Pure Essential Oil" ก็ไม่ผิดอะไร
สำหรับวัตถุดิบบางชนิด อย่างเช่นเบอร์กามอท เมื่อมีการสกัดน้ำมันหอมออกมาแล้ว น้ำมันหอมที่ได้อาจมีสารบางชนิดที่ไม่ต้องการเจือปนอยู่ด้วย เช่น สาร bergaptene ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในกลุ่ม Furanocoumarins ที่มีอยู่ประมาณ 1-4% ในน้ำมันสกัดจากเบอร์กามอท สารในกลุ่มนี้เป็นตัวเร่งให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวเมื่อสัมผัสกับแสงแดด (Phototoxicity) จึงทำให้น้ำมันหอมระเหยหลาย ๆ ชนิดที่มีสารในกลุ่มนี้เป็นส่วนประกอบ ถูกแนะนำให้ระมัดระวังโดยต้องหลีกเลี่ยงการถูกแสงแดดเป็นเวลา 3-5 ชั่วโมงหลังจากการใช้ หรือใช้ในเวลากลางคืนเท่านั้น จึงทำให้มีการนำน้ำมันหอมระเหยเบอร์กามอทไปผ่านกระบวนการกลั่นด้วยไอน้ำซ้ำ (Rectification หรือ re-Distillation) เพื่อดึงเอาเฉพาะน้ำมันหอมระเหยออกจากน้ำมันสกัด ทำให้ผลผลิตที่ได้จากกระบวนการนี้ สามารถเรียกได้ว่าเป็นน้ำมันหอมระเหยเบอร์กามอท หรืออีกชื่อหนึ่งที่เรียกคือ Bergamot FCF (FuranoCoumarins Free)
3. การสกัดโดยใช้ตัวทำละลาย (Solvent Extraction)
วัตถุดิบจากพืชหรือดอกไม้หลาย ๆ ชนิด ไม่สามารถสกัดด้วยวิธีการกลั่นด้วยไอน้ำได้เนื่องจากหลากหลายเหตุผล เช่น สารสำคัญอาจถูกทำลายเพื่อถูกความร้อน ทำให้สูญเสียกลิ่นหอมอันเป็นเอกลักษณ์ของวัตถุดิบ หรือเมื่อกลั่นด้วยไอน้ำแล้ว คุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยที่ได้มีกลิ่นหอมที่ไม่ติดทนนาน หรือมีกลิ่นหอมเพี้ยนไปจากกลิ่นที่สูดดมจากวัตถุดิบจริง ๆ จึงทำให้ต้องมีกระบวนการสกัดน้ำมันหอมอีกกระบวนการหนึ่งเข้ามาเกี่ยวข้อง นั่นคือการสกัดน้ำมันหอมด้วยวิธีการใช้ตัวทำละลาย หรือ Solvent Extraction วัตถุดิบจากพืชและดอกไม้ที่นิยมใช้กระบวนการนี้ในการสกัดสารหอมคือ มะลิ กุหลาบ ซ่อนกลิ่น ดอกบัว เป็นต้น
กระบวนการสกัดเริ่มจากการนำวัตถุดิบไว้ในหม้อความดันขนาดใหญ่ที่เป็นระบบปิด โดยวัตถุดิบจะถูกผสมด้วยสารที่ใช้เป็นตัวทำละลายที่เป็น organic solvent เช่น acetone, benzene หรือ hexane โดยที่ตัวทำละลายจะดึงเอาสารทุกชนิดที่สามารถเข้ากันได้กับตัวทำละลายออกมาจากวัตถุดิบพืช ไม่ว่าจะเป็น แวกซ์ สี รวมถึงสารหอมที่ต้องการด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นในกระบวนการนี้เรียกว่า "Extract" และจะถูกกลั่นกรองแยกออกจากวัตถุดิบเข้าสู่อีกหม้อกลั่นหนึ่งโดยการเพิ่มความร้อนและความดันในปริมาณน้อยที่เพียงพอจะให้สารละลายที่มีทั้งตัวทำละลาย แวกซ์ สี และกลิ่นหอมนี้ ระเหยออกมาสู่อีกหม้อกลั่นหนึ่งเพื่อให้ได้สารละลายที่เรียกว่า "Concrete" หลังจากนั้นจะนำ Concrete ที่ได้มาผสมกับแอลกอฮอล์ เพื่อสกัดแยกแวกซ์ออกจาก concrete แล้วจึงนำไปผ่านกระบวนการแยกแอลกอฮอล์ออกอีกครั้งหนึ่งด้วยกระบวนการ Vacumn Extraction จึงได้ผลิตภัณฑ์สุดท้ายเป็นสารหอมบริสุทธิ์จากพืช หรือที่เรียกว่า "Absolute"
อย่างที่อธิบายไปแล้วข้างต้น ข้อดีของกระบวนการสกัดนี้คือน้ำมันหอมที่ได้จะมีกลิ่นหอมที่ใกล้เคียงกับกลิ่นหอมจากวัตถุดิบจริง ๆ มากกว่าน้ำมันหอมระเหยที่ได้จากการกลั่นด้วยไอน้ำและมีกลิ่นหอมติดทนนานกว่า จึงได้รับความนิยมในการนำไปใช้ในอุตสาหกรรมน้ำหอมซะเป็นส่วนใหญ่ แม้แต่พืชบางชนิดที่ปกติจะสกัดน้ำมันหอมระเหยด้วยการกลั่นด้วยไอน้ำเท่านั้น เช่น ลาเวนเดอร์ ก็ยังมีการนำมาสกัดด้วยวิธี Solvent Extraction เพื่อให้ได้น้ำมันหอมสกัดจากดอกลาเวนเดอร์ที่มีกลิ่นหอมติดทนนาน เป็น Base Note ซึ่งแตกต่างกับน้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์ที่กลั่นด้วยไอน้ำซึ่งปกติจะมีคุณสมบัติเป็น Top Note แต่ว่าข้อเสียของการสกัดด้วยวิีธีตัวทำละลายนี้คือ ความบริสุทธิ์ของน้ำมันหอมสกัดจะไม่ได้ดีเท่าการสกัดด้วยวิธีการกลั่นด้วยไอน้ำ ดังนั้นน้ำมันหอมสกัดด้วยวิธีนี้ จึงไม่ค่อยได้รับความนิยม หรือไม่ถูกแนะนำให้นำไปใช้ในเชิงสุคนธบำบัดเท่าไหร่นัก เช่น Rose Oil จะใช้ในเรื่อง Aromatherapy แต่ Rose Absolute จะใช้ทำน้ำหอม
4. การสกัดโดยใช้คาร์บอนไดออกไซค์เหลว (SFE-CO2)
การสกัดด้วยคาร์บอนไดออกไซค์เหลว เป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่สกัดน้ำมันหอมระเหยให้ได้คุณภาพและความบริสุทธิ์ที่ดีที่สุด เป็นการรวมข้อดีของการกลั่นด้วยไอน้ำและการสกัดด้วยตัวทำละลายเข้าไว้ด้วยกัน คือ การสกัดด้วยวิธีนี้จะทำให้ได้น้ำมันหอมระเหยที่มีความบริสุทธิ์เทียบเท่ากับการกลั่นด้วยไอน้ำ ในขณะที่รักษาคุณภาพของกลิ่นหอมได้ใกล้เคียงกับกลิ่นหอมจากธรรมชาติมากที่สุดเช่นเดียวกับการกลั่นด้วยวิธีตัวทำละลาย เพียงแต่ข้อจำกัดคือปริมาณของวัตถุดิบที่ใช้ในการกลั่นในแต่ละครั้งทำได้ในปริมาณน้อย และเทคโนโลยีที่ใช้ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์และสารที่จำเป็นในกระบวนการทำให้กระบวนการกลั่นด้วยวิธี SFE-CO2 มีราคาค่อนข้างสูง จึงมีการนำมาใช้กับวัตถุดิบบางชนิดที่จำเป็นเท่านั้น เช่น ดอกมะลิ จำปี เมลิซซา ที่มีราคาสูง แต่จริง ๆ แล้วก็สามารถนำมาใช้กับวัตถุดิบหลาย ๆ ชนิดได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าราคาที่ออกมานั้นตลาดยังพอรองรับได้
กระบวนการสกัดเริ่มจากการผสมคาร์บอนไดออกไซค์เหลวเข้ากับวัตถุดิบที่ใช้สกัดในระบบปิดที่มีความดันสูง (เนื่องจากคาร์บอนไดออกไซค์จะมีสภาวะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิต่ำมากหรือต้องมีความดันสูงมาก) เมื่อคาร์บอนไดออกไซค์เหลวสามารถละลายสารหอมออกจากวัตถุดิบพืชที่นำมาสกัดได้แล้ว จึงแยกสารละลายออกจากตัววัตถุดิบ จะได้สารละลายที่มีเฉพาะคาร์บอนไดออกไซค์เหลวและสารหอมที่สกัดได้ทั้งหมด หลังจากนั้นจึงทำการลดความดันลงเพื่อให้คาร์บอนไดออกไซค์ระเหย เหลือแต่น้ำมันหอมที่สกัดได้ที่มีความสะอาดและมีความบริสุทธิ์สูง
5. อื่น ๆ
นอกจากวิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยที่เป็นกระบวนการที่ใช้ทั่วไปข้างต้น ยังมีกระบวนการสกัดอีกหลายแบบ เพียงแต่ยังไม่เป็นที่นิยมด้วยเหตุผลต่าง ๆ เช่น มีราคาสูง ยังไม่ดีพอที่จะแทนที่วิธีการเดิม หรือเป็นกระบวนการสกัดที่ล้าสมัยแล้ว หากสนใจสามารถหาข้อมูลได้โดยใช้ Keywords ดังต่อไปนี้
- Hydro Distillation
- Enfleurage
- Maceration
- Phytonic
|
|
|
ส่วนต่าง ๆ ของพืชที่นำมาสกัดน้ำมันหอมระเหย |
|
|
น้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด ได้มาจากการกลั่นมาจากส่วนต่าง ๆ ของพืชที่แตกต่างและใช้ชื่อเรียกแตกต่างกันไป พืชบางชนิดเช่น ต้นส้ม สามารถกลั่นน้ำมันหอมระเหยออกมาได้หลายชนิด คือ เนโรลี่ (Neroli) ซึ่งกลั่นจากดอกส้ม มีราคาแพงมาก เพตติเกรน (Petitgrain) สกัดจากเปลือกและใบของต้นส้ม และ น้ำมันเปลือกส้ม (Orange) ที่สกัดมาจากเปลือกของผล มีราคาถูกที่สุด
ดอก |
ลาเวนเดอร์, กุหลาบ, เนโรลี่, คาโมไมล์, เจอเรเนี่ยม, กระดังงา, มะลิ, จำปา, ลั่นทม, ซ่อนกลิ่น, แคลรี่ เซจ, กานพลู |
ผล |
ส้ม, มะกรูด, พริกไทยดำ, เมล็ดแครอท, เลมอน, มะนาว, ลูกจันทน์เทศ, เกรฟฟรุต, จูนิเพอร์เบอร์รี่ |
ใบ |
ฺโหระพา, กระเพรา, อบเชย, ตะไคร้หอม, ยูคาลิปตัส, ไซเพรส, จูนิเพอร์, ตะไคร้, เมลิสซา, เปบเปอร์มิ๊นท์, ที ทรี |
เปลือกและลำต้น |
ซีดาร์, อบเชย, เพตติเกรน, ไม้จันทน์ |
รากและหัว |
ขิง, กระชาย, ไพล, เวเลเรียน, หญ้าแฝก, สไปนาร์ด |
ยางไม้ |
กฤษณา, กำยาน, เมอร์, แฟรงคินเซนส์ |
ดอกเจอเรเนี่ยม |
ดอก Immortelle |
ใบพลู |
ดอกลาเวนเดอร์ |
หญ้าแฝกหอม |
โรสแมรี่ |
|
|
|
การใช้น้ำมันหอมระเหยในเชิง Aromatherapy แบ่งเป็น 3 ประเภท |
|
|
การนำน้ำมันหอมระเหยไปใช้ในด้านการบำบัดทางเลือกด้วยกลิ่นหอม (Aromatherapy) หรือที่เรียกว่า สุคนธบำบัดนั้น แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
1. การนำไปใช้ในเชิงจิตบำบัด หรือ Psychoaromatherapy
เป็นการใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อความสมดุลของจิตใจ โดยแต่ละชนิดของน้ำมันหอมระเหยก็จะออกฤทธิ์แตกต่างกัน โดยหลักการคือเมื่อสูดดมน้ำมันหอมระเหย กลิ่นหอมจะไปกระทบกับเซลล์ประสาทบริเวณโพรงจมูกซึ่งส่งสัญญาญไปยังสมองให้สั่งให้ต่อมต่าง ๆ หลั่งฮอร์โมนที่แตกต่างกันออกมา ผลที่ได้คือช่วยให้รู้สึกสงบ ช่วยผ่อนคลายหรือกระตุ้นการทำงานของสมอง ช่วยบรรเทาความรู้สึกที่สับสนหรือหงุดหงิด ผ่อนคลายความเครียดจากการทำงานและความกังวล ให้ความรู้สึกมีพลังและสดชื่นกระปรี้กระเปร่า ให้ความรู้สึกอบอุ่น มั่นคง แก้โรคซึมเศร้า และอาการป่วยทางจิตต่าง ๆ คุณสมบัติจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับสารประกอบธรรมชาติที่มีในน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด เช่น ลาเวนเดอร์ช่วยให้ผ่อนคลาย ยูคาลิปตัสและโรสแมรี่ช่วยให้สดชื่น เป็นต้น
2. การนำไปใช้เพื่อความสวยงาม หรือ Beauty Aromatherapy
เป็นการนำน้ำมันหอมระเหยมาใช้กับร่างกายภายนอก ไม่ว่าจะเป็นผิวกาย เส้นผม และนำไปใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางเพื่อความสวยงามต่าง ๆ ไม่ว่าจะนำไปผสมกับน้ำมันพื้นฐาน เช่น น้ำมันโรสฮิป น้ำมันมะรุม น้ำมันเมล็ดทับทิม หรือผสมกับ Base อื่น ๆ เพื่อใช้สำหรับทาผิว หรือนำไปใช้หมักผม มีสรรพคุณช่วยบำรุงผิว ชะลอริ้วรอยแห่งวัย ช่วยให้เซลล์ผิวเปล่งปลั่งมีน้ำมีนวล ลดเลือนริ้วรอยที่เกิดจากบาดแผล หรือแผลเป็นต่าง ๆ ดูแลสุขภาพเส้นผมและหนังศีรษะ แล้วยังช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเส้นผมได้อีกด้วย เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยมีสารประกอบตามธรรมชาตินับร้อยชนิด ซึ่งแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติแตกต่างกันไป เช่น ลาเวนเดอร์ช่วยฟื้นฟูผิวจากแผลไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก อิมมอคแทลและโรสแมรี่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ผิวใหม่ เป็นต้น
3. การนำไปใช้เพื่อการรักษาร่างกาย หรือ Medical Aromatherapy
สิ่งที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งของน้ำมันหอมระเหยคือ การนำไปใช้ในการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยต่าง ๆ น้ำมันหอมระเหยหลายชนิด เช่น ลาเวนเดอร์ ทีทรี มีสารต้านเชื้อโรค แก้ปวด แก้อักเสบ ช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียนของเลือด รักษาโรคทางระบบทางเดินหายใจ และทางเดินอาหาร การนำน้ำมันหอมระเหยไปใช้ในเชิงรักษา ผู้ใช้ควรเรียนรู้ให้ชัดเจนเสียก่อน หรือปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยมีความเข้มข้นสูงมาก จึงไม่ควรรับประทานหรือผสมน้ำมันหอมระเหย ลงไปในอาหารหรือยาใด ๆ ควรใช้เป็นการรักษาภายนอกเท่านั้น
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม โดยปกติแล้วไม่แนะนำให้ใช้น้ำมันหอมระเหยติดต่อกันเป็นเวลานานมากกว่า 12 สัปดาห์ เนื่องจากร่างกายจะจะเคยชินต่อผลของน้ำมันหอมระเหยนั้น ไม่ควรรับประทาน หรือนำน้ำมันหอมระเหยมาทาผิวโดยตรง เนื่องจากน้ำมันหอมระเหยมีความเข้มข้นสูงมาก อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวได้ เราจึงควรที่จะเจือจางน้ำมันหอมระเหยประมาณ 0.1-2.0% ก่อนที่จะนำมาใช้ทุกครั้ง ผู้ใช้บางรายอาจมีอาการแพ้สารบางชนิดในน้ำมันหอมระเหย เราจึงแนะนำให้คุณควรทดสอบแต้มน้ำมันหอมระเหยบาง ๆ ลงบนผิวหนังเพื่อทดสอบดูอาการแพ้ ถ้าเกิดอาการคันหรือมีผื่นขึ้น ก็ควรหลีกเลี่ยงที่จะให้น้ำมันหอมระเหยชนิดนั้น
พึงระลึกไว้เสมอว่า Aromatherapy หรือการบำบัดด้วยกลิ่นนั้นเป็นการรักษาทางเลือก มิใช้การรักษาหลัก และมักนิยมใช้เพื่อการผ่อนคลายร่างกาย และจิตใจเสียมากกว่า เพราะฉะนั้นจึงควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ผู้ให้การรักษาตามปกติ การดื่มน้ำ พักผ่อนมาก ๆ ทำจิตใจให้สบาย และรับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการเป็นสิ่งที่ดีที่สุด สำหรับการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง
|
|
|
ทำไมน้ำมันหอมระเหยถึงมีราคาไม่เท่ากัน บางชนิดถูกมาก บางชนิดกลับแพงมาก |
|
|
น้ำมันหอมระเหยคือน้ำมันที่กลั่นหรือสกัดมาจากสารหอมที่อยู่ในส่วนต่าง ๆ ของพืช ซึ่งในพืชแต่ละชนิดก็จะมีปริมาณของน้ำมันหอมระเหยมากน้อยแตกต่างกัน และการสกัดอาจต้องใช้วิธีที่แตกต่างกันเพื่อป้องการการถูกทำลายขององค์ประกอบที่มีประโยชน์ในน้ำมันหอมระเหยของพืชแต่ละชนิด พืชที่สามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยออกมาได้ง่ายและมีปริมาณมาก ก็จะมีราคาถูก อย่างเช่น ส้ม ตะไคร้ ไพน์ ซีดาร์ ยูคาลิปตัส เป๊บเปอร์มินท์ จะมีราคาอยู่ที่ประมาณลิตรละ ไม่เกิน 2,000-8,000 บาท ในขณะที่น้ำมันหอมระเหยบางชนิดที่มีปริมาณน้อยและต้องใช้วัตถุดิบปริมาณมากในการสกัดนำน้ำมันหอมระเหยออกมา ก็จะมีราคาแพงมากขึ้นไปตามลำดับจนอาจจะถึงหลักแสนบาท ทั้งนี้ ปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่เป็นตัวกำหนดราคาของน้ำมันหอมระเหยก็คือ ปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ ความยากง่ายในการปลูก พื้นที่เพาะปลูก และอื่น ๆ
แต่มีน้ำมันหอมระเหยอีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสกัดได้ในปริมาณที่น้อยมาก จำเป็นต้องใช้วัตถุดิบปริมาณมาก ที่เพาะปลูกได้ยากและมีปริมาณน้อย อย่างเช่น กุหลาบ ซึ่งต้องใช้กลีบกุหลาบถึง 3 พันกลีบ ถึงสามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยกุหลาบได้เพียง 1 หยด จึงทำให้น้ำมันหอมระเหยกลุ่มนี้ มีราคาแพงมาก โดยเฉพาะน้ำมันหอมระเหยดอกกุหลาบแท้ ราคาต่ำสุดจากผู้ผลิตโดยตรงจะตกอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 500,000-950,000 บาทต่อลิตร จึงทำให้มีการปลอมแปลงน้ำหอมสังเคราะห์ขึ้นมาแทนที่น้ำมันหอมระเหยประเภทนี้สูงมาก ทั้งที่ได้มาจากการผสมน้ำมันหอมระเหยราคาถูก อย่างเช่น พาลมาโรสา ตะไคร้ และอื่น ๆ เข้าด้วยกันเพื่อให้ได้กลิ่นหอมที่ใกล้เคียงกับกุหลาบ หรือแม้แต่ใช้น้ำหอมสังเคราะห์จากสารเคมีในห้องแลบซึ่งมีต้นทุนที่ถูกกว่ามาก จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ที่จะต้องซื้อน้ำมันหอมระเหยจากผู้ขายที่มีความรู้ และเชื่อถือได้ เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำมันหอมระเหยที่คุณใช้ มีคุณสมบัติอย่างที่ควรจะเป็นครบทุกประการ และปลอดภัยต่อร่างกาย
น้ำมันหอมระเหยที่มีราคาแพงได้แก่: กุหลาบ (Rose Otto) คาโมไมล์ (German & Roman Chamomile) มะลิ (Jasmine) เมลิสซา (Melissa) ลีลาวดี (Frangipani) ดอกบัว (White & Pink Lotus) ซ่อนกลิ่น (Tuberose) ไม้จันทน์ (Sandalwood) กฤษณา (Agarwood) เนโรลี่ (Neroli) อิมมอคแทล (Immortelle/Helichrysum) และจำปา (Champaca)
ข้อสำคัญ: น้ำมันหอมระเหยที่มีราคาแพง เพราะความสามารถในการผลิตน้อยและมีต้นทุนสูง ไม่ได้หมายความว่าจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าชนิดอื่น ๆ เสมอไป
|
|
|
กลไกการออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหยที่มีผลต่อร่างกายและระบบประสาท |
|
|
ในน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด เมื่อนำมาวิเคราะห์หาองค์ประกอบด้วยกระบวนการทางเคมี จะพบว่าประกอบด้วยสารประกอบธรรมชาติหลักที่มีปริมาณประมาณ 60-80% อยู่ประมาณ 3-10 ชนิด และมีสารประกอบอื่น ๆ อีกกว่าสิบชนิดในปริมาณที่ลดน้อยลงไป หรืออาจมีมากกว่า 100 ชนิดในน้ำมันหอมระเหยของพืชบางชนิด ซึ่งทั้งหมดนี่ เป็นส่วนประกอบเข้าด้วยกันที่ทำให้น้ำมันหอมระเหยในพืชแต่ละชนิดมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และแตกต่างกันถึงแม้ว่าจะเป็นพืชชนิดเดียวกัน ความแตกต่างนี้ เป็นผลมาจาก วิธีการเพาะปลูก การดูแลรักษา ดิน ปุ๋ย และสภาพอากาศในแต่ละฤดูกาลเพาะปลูก ซึ่งความหลากหลายในด้านองค์ประกอบนี้ ทำให้น้ำมันหอมระเหยแท้ที่ได้มาจากพืช 100% มีคุณสมบัติทางด้านการให้กลิ่นหอมพึงพอใจ คุณสมบัติทางการแพทย์ในการบำบัดรักษาทั้งร่างกายและจิตใจ และคุณสมบัติอื่น ๆ ทั้งหมด แตกต่างกับน้ำมันหอมสังเคราะห์ที่จะทำขึ้นมาจากสารสังเคราะห์ต่าง ๆ ไม่เกิน 10 ชนิดจากห้องปฏิบัติการ และมีผลต่อผู้ใ้ช้แค่กลิ่นที่พึงพอใจ นี่จึงเป็นเหตุผลที่อธิบายความแตกต่างกันของน้ำมันหอมระเหยแท้ และน้ำมันหอมสังเคราะห์
กลไกการออกฤทธิ์ของน้ำมันหอมระเหย กล่าวคือ ในประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของคนเรา อันได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ประสาทสัมผัสทางด้านกลิ่นเป็นประสาทสัมผัสที่ได้ชื่อว่ามีผลต่อการประมวลความรู้สึกทางด้านอารมณ์ของสมอง เมื่อไอโมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยที่มีสารประกอบกว่าร้อยชนิดในน้ำมันหอมระเหยกระทบกับต่อมรับกลิ่นในโพรงจมูก ที่มีเซลล์รับรู้กว่าล้านเซลล์นั้น สารประกอบแต่ละชนิดในน้ำมันหอมระเหยจะทำให้เกิดสัญญาณที่ส่งไปที่สมองแตกต่างกัน ทำให้สมองมีการสั่งงานไปที่จิตใจหรือหลั่งฮอร์โมนสั่งงานร่างกายแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ อารมณ์ ความรู้สึก การตอบสนองของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่นน้ำมันหอมระเหยเปปเปอร์มิ๊นท์มีฤทธิ์กระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกตื่นตัว สดชื่น ในทางกลับกัน น้ำมันหอมระเหยจากวาเลเรี่ยน มีฤทธิ์ทำให้เกิดความรู้สึกง่วงนอน หรือน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์กระตุ้นหลาย ๆ ตัว มีผลทำให้สมองสั่งการหลั่งฮอร์โมนให้เกิดการกระตุ้นการบีบตัวของมดลูกในผู้หญิง จึงได้มีการแนะนำอย่างเข้มงวดในการห้ามสตรีมีครรภ์ใช้น้ำมันหอมระเหยขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 0-4 เดือนแรก
|
|
|
น้ำมันหอมระเหยสามารถรักษาโรคร้ายต่าง ๆ ได้หรือไม่ |
|
|
จากที่ได้ยินมามากมายเกี่ยวกับการนำน้ำมันหอมระเหยไปรักษาโรคต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาอาการเจ็บป่วยธรรมดา จนถึงโรคร้ายบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหัวใจ เราจึงขอเตือนผู้ใช้หรือคิดจะใช้น้ำมันหอมระเหยว่า นี่อาจเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง และไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือเอกสารทางวิชาการใด ๆ ที่รับรองได้ว่า น้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิดสามารถรักษาโรคร้ายได้จริง ถึงแม้ว่าจริงอยู่ที่มีการพิสูจน์และรับรองจากทางยุโรปและอเมริกามาแล้วว่า น้ำมันหอมระเหยมีสารประกอบที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่มีผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย หรือสามารถบรรเทาอาการป่วยบางอย่าง เช่น เป็นไข้ รักษาบาดแผล ปวดท้อง ช่วยให้ย่อย เจริญอาหาร หรือระงับสติอารมณ์ได้นั้น แต่ไม่เป็นความจริงที่ว่าน้ำมันหอมระเหยเพียงอย่างเดียวจะดีขนาดนำไปรักษาโรคร้ายต่าง ๆ ได้ เพียงแต่อาจจะช่วยในเรื่องจิตบำบัด ช่วยผ่อนคลายความกังวล หรือเป็นตัวเสริมเท่านั้น ซึ่งบุคคลที่เกี่ยวข้องและสถาบันทางการแพทย์ ได้แนะนำให้ใช้้น้ำมันหอมระเหยเป็นเพียงการบำบัดทางเลือก มากกว่าที่จะเป็นการรักษาหลัก ซึ่งเราแนะนำว่า การปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์ และการรับประทานอาการที่ถูกหลักโภชนาการ พักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้แ่จ่มใส จะเป็นการรักษาและดูแลร่างกายที่มีประโยชน์มากที่สุด
|
|
|
หลักการเลือกซื้อน้ำมันหอมระเหยธรรมชาติให้ได้ของแท้ และวิธีการเปรียบเทียบกับกลิ่นสังเคราะห์ |
|
|
- น้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติจะใช้คำว่า Pure Essential Oil ในขณะที่น้ำมันหอมระเหยสังเคราะห์จะใช้คำว่า Aromatic Oil, Fragrance Oil หรือ Perfume Oil ดังนั้น หากต้องการให้แน่ใจว่าได้น้ำมันหอมระเหยแท้ที่สกัดจากพืชธรรมชาติ ควรตรวจสอบน้ำมันหอมระเหยที่ฉลากระบุไว้ดังกล่าวให้ดี การนำน้ำมันหอมระเหยชนิดสังเคราะห์ที่ได้กลิ่นเหมือนกันมาใช้แทนน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติ จะไม่มีประโยชน์ในการบำบัดเว้นแต่กลิ่นหอมที่ถูกใจเท่านั้น โดยส่วนมาก กลิ่นแรกหลังจุดอาจจะรู้สึกทึบและหนัก ต่างกับน้ำมันหอมระเหยธรรมชาติที่ให้กลิ่นที่เบาสบายกว่า สำหรับบางคนที่แพ้กลิ่นฉุน การใช้น้ำหอมสังเคราะห์อาจทำใหรู้สึกวิงเวียนคลื่นไส้ได้ง่าย
- หากน้ำมันหอมระเหยบรรจุอยู่ในขวดแก้วใส คุณสมบัติหรือประโยชน์ของน้ำมันหอมระเหยจะถูกทำลายด้วยแสงที่มากระทบ กลิ่นหอมจะไม่คงทน และประโยชน์ในการบำบัดก็จะลดลงตามไปด้วย วิธีการเลือกซื้อที่ถูกต้อง คือ น้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติต้องเก็บไว้ในภาชนะแก้วสีทึบและปิดสนิท เพื่อป้องกันแสงแดดและอากาศไม่ให้ทำลายองค์ประกอบในน้ำมันหอมระเหย เช่น ขวดแก้วสีน้ำตาล สีน้ำเงิน หรือสีเขียว เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการเลือกบรรจุภัณฑ์ที่เป็นขวดพลาสติก หรือมีจุกยาง เนื่องจากคุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยแท้จะละลายพลาสติกหรือจุกยางได้ ทำให้มีความเสี่ยงที่น้ำมันหอมระเหยจะมีการปนเปื้อนด้วยสารปิโตรเคมีที่ใช้ผลิตวัสดุพลาสติกหรือยางเหล่านั้น ขวดบรรจุต้องเป็นขวดแก้วหรืออะลูมิเนียมเท่านั้น จุกหยดที่ใช้ขวดน้ำมันหอมระเหยควรเป็นพลาสติกเกรดพิเศษแบบทนการกัดกร่อน และฝาปิดควรเป็นอะลูมิเนียมหรือพลาสติกแข็งที่ทนทานเช่นกัน
- ราคาของน้ำมันหอมระเหยโดยปกติแล้วมีราคาหลักพันถึงหลักแสนบาทต่อลิตร โดยที่น้ำมันหอมระเหยจากดอกไม้หอมและพืชบางชนิด จะมีราคาแพงมาก ประมาณ 50,000-500,000 บาทต่อลิตร เช่น มะลิ (Jasmine) ดอกส้ม (Neroli) กุหลาบ (Rose) ไม้จันทน์ (Sandalwood) คาโมไมล์ (Chamomile) ลีลาวดี (Frangipani) ซ่อนกลิ่น (Tuberose) ดอกบัว (Lotus) เพราะฉะนั้นหากท่านเลือกซื้อน้ำมันหอมระเหยได้ในราคาถูกเกินความเป็นจริง ขอให้หยุดคิดสักนิดว่านั่นไม่ใช่ของแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจเป็นเพียงน้ำหอมสังเคราะห์ ที่ผู้ขายเข้าใจผิดและใช้ชื่อเรียกว่าน้ำมันหอมระเหยเท่านั้น ผู้ซื้อจึงควรเลือกจ่ายในราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์
- หากพบน้ำมันหอมระเหยมีตะกอนอยู่ก้นขวดหรือแขวนลอยอยู่ ขอให้เลี่ยงเพราะน้ำมันหอมระเหยดังกล่าวอาจถูกเก็บไว้นานเกินไป แต่อย่างไรก็ดี น้ำมันหอมระเหยบางชนิดก็อาจมีการเปลี่ยนแปลงของสีได้ตามการเก็บที่นานขึ้น แม้ว่าอายุการใช้งานของน้ำมันหอมระเหยจะนานถึง 2-3 ปีก็ตาม เช่น โรมันคาโมมายล์จะมีสีน้ำเงินใสอ่อนมาก แต่หากเก็บไว้ประมาณ 3 เดือนจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเขียวและเหลืองใส หรือน้ำมันหอมระเหย Rose Otto เมื่อสกัดใหม่จะมีกลิ่นค่อนข้างแหลม แต่จะนุ่มลงเมื่อผ่านไป 3-6 เดือน หรือน้ำมันหอมระเหยไม้จันทน์ ยิ่งเก็บนานก็จะยิ่งมีกลิ่นหอมขึ้นตามกาลเวลา เป็นต้น
- ผู้ขายสามารถอธิบายถึงสรรพคุณของน้ำมันหอมระเหยดังกล่าวได้หรือไม่ มีความรู้ในตัวผลิตภัณฑ์มากเพียงใด ผู้ขายควรมี ข้อมูลของน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด ซึ่งประกอบด้วย ชื่อทางวิทยาศาสตร์ ประเทศที่ผลิต และวิธีการสกัด เป็นอย่างน้อย หรือถ้าให้ดีควรมี Certificate of Analysis หรือ GC/MS ประกอบด้วย เพื่อใช้เป็นตัวบอกรายละเอียดและคุณภาพของน้ำมันหอมระเหยได้ในระดับหนึ่ง
- ในปัจจุบันมีน้ำมันหอมกลิ่นดอกไม้ไทยหลายชนิดที่เขียนว่าเป็นน้ำมันหอมระเหย เช่น ดอกโมก ดอกแก้ว ลีลาวดี มะลิ ซ่อนกลิ่น หรืออื่น ๆ ที่ขายในขนาดบรรจุเล็กขวดละไม่กี่สิบบาท กลิ่นเหล่านี้เป็นหัวน้ำมันหอม (fragrance) ที่สังเคราะห์ขึ้นมาให้กลิ่นเลียนแบบ มีราคาถูกเพียงแค่ประมาณ 2,000-5,000 บาทต่อลิตรเท่านั้น ไม่ใช่น้ำมันหอมระเหยที่สกัดมาจากดอกไม้ชนิดนั้น ๆ โดยตรง ในปัจจุบัน ดอกไม้ไทยที่มีการสกัดน้ำมันหอมระเหยออกมานั้น จะมีเพียงแค่ มะลิ ลีลาวดี ซ่อนกลิ่น และดอกบัว เท่านั้น ซึ่งราคาก็จะแพงมากอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 100,000-500,000 บาทต่อลิตร จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีน้ำมันหอมระเหยดอกไม้ไทย ของแท้ที่สกัดจากดอกไม้จริง ๆ ขายในราคาถูก
- ในเมื่อยังไม่มีน้ำมันหอมระเหยที่สกัดได้จากดอกไม้หรือกลิ่นจากธรรมชาติทุกชนิดจำหน่ายในท้องตลาด หรือน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติที่ต้องการมีราคาสูงเกินงบที่สามารถซื้อได้ ดังนั้น การใช้น้ำมันหอมสังเคราะห์เกรดเครื่องสำอาง (ไม่ใช่เกรดทำเทียนหอมหรือเกรดอุตสาหกรรมที่ใ้ช้ทำพวกน้ำยาดับกลิ่น) ที่ผลิตโดยผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน เช่น Charabot หรือ Fragonard ของฝรั่งเศส หรือที่อื่น ๆ ที่มีคุณภาพ ก็เป็นทางเลือกที่ดีและยอมรับในเรื่องความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่งเช่นกัน ยกตัวอย่างกลิ่นที่ไม่สามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยได้หรือยังไม่มีในท้องตลาด เช่น กลิ่นดอกโมก ใบชา ชาเขียว นมข้าว กลิ่นผลไม้ต่าง ๆ เบอร์รี่ หรือกลิ่นที่สามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยได้ แต่มีราคาแพงเกินงบ เช่น มะลิ กุหลาบ ดอกบัว ลีลาวดี จำปา จำปี เป็นต้น
- การแยกแยะน้ำมันหอมระเหยแท้จากธรรมชาติออกจากน้ำมันหอมระเหยกลิ่นสังเคราะห์ได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง คือ การได้เรียนรู้ว่ากลิ่นที่แท้จริงของน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาตินั้น มีกลิ่นแบบใดและมีคุณลักษณะต่าง ๆ อย่างไร เช่น น้ำมันหอมระเหย Rose Absolute จะมีสีแดงเข้ม กลิ่นเบานุ่มนวลของกุหลาบ แต่ Rose Otto จะมีสีเหลืองใสและกลิ่นแหลมเบากว่ามาก ในขณะที่ Rose Fragrance จะมีสีเหลืองใสและกลิ่นหอมกุหลาบค่อนข้างทึบหนัก ดังนั้น ทางเราจึงมีตัวอย่างทั้งน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติ 100% ทุกชนิด และตัวอย่างกลิ่นน้ำมันหอมระเหยสังเคราะห์ไว้ที่ร้าน เพื่อให้ลูกค้าหรือผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปทดสอบและศึกษาข้อแตกต่างได้ตลอดเวลา หากสนใจ [คลิ๊กที่นี่]
|
|
|
น้ำมันหอมระเหยของแท้ vs. น้ำมันหอมสังเคราะห์ (ของเทียม) |
|
|
เนื่องจากกลิ่นหอมของน้ำมันหอมระเหยสังเคราะห์ที่อาจหอมถูกใจผู้ใช้มากกว่ากลิ่นของน้ำมันหอมระเหยแท้จากธรรมชาติ แต่อย่าลืมว่า ผู้ใช้จะได้รับเพียงความรู้สึกพึงพอใจทางกลิ่นเท่านั้น โดยไม่มีผลในการบำบัดรักษาตามคุณสมบัติของพืชแต่ละชนิดเหมือนกับที่ได้รับจากน้ำมันหอมระเหย อีกทั้งสารเคมีที่ใช้สังเคราะห์นั้น ยังอาจเป็นอันตรายกับระบบทางเดินหายใจของผู้ใช้หากใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานอีกด้วย ในขณะที่น้ำมันหอมระเหยธรรมชาตินั้นจะปลอดภัยและไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ผู้ใช้จึงควรพิจารณาให้ดีถึงความคุ้มค่า และความปลอดภัยที่ได้รับจากการใช้น้ำมันหอมระเหย เปรียบเทียบกับการใช้น้ำมันสังเคราะห์
ข้อแตกต่างด้านราคาระหว่างน้ำมันหอมระเหยที่สกัดจากธรรมชาติ และน้ำมันหอมระเหยสังเคราะห์
- น้ำมันหอมระเหย Jasmine ที่สกัดจากดอกมะลิจริง ๆ ราคาอยู่ที่หลักแสนบาทต่อลิตร ในขณะที่น้ำมันหอมระเหยสังเคราะห์มีราคาไม่เกิน 5,000 บาท
- น้ำมันหอมระเหยกลิ่นดอกไม้ไทยส่วนมากที่ขายในประเทศ จะเป็นกลิ่นสังเคราะห์เกือบทั้งหมด เนื่องจากการปลูกและสกัดยังมีต้นทุนที่สูงกว่ามาก
- เนื่องจากราคาน้ำมันหอมระเหยธรรมชาติแนวดอกไม้ไทยมีราคาสูงมาก หลาย ๆ ที่จึงนิยมใช้กลิ่นสังเคราะห์ (fragrance) เป็นการทดแทน
เหตุผลที่น้ำมันหอมระเหยหลาย ๆ ชนิดมีราคาแตกต่างกันไป
- น้ำมันหอมระเหย Melissa แท้ มีราคาประมาณ 200,000-275,000 บาทต่อลิตร นั่นเป็นเพราะต้องใช้ใบ Melissa กว่า 6 ตัน เพื่อที่จะสกัดให้ได้ 1 ลิตร
- น้ำมันหอมระเหย ดอกกุหลาบดามัส มีราคาประมาณ 850,000 บาทต่อ 1 ลิตร นั่นเป็นเพราะต้องใช้ดอกกุหลาบกว่า 3 ตัน เพื่อที่จะสกัดให้ได้ 1 ลิตร
- น้ำมันหอมระเหย Palmarosa, Lemongrass, Citronella มีราคาถูก เพราะว่าใช้วัตถุดิบไม่มากในการสกัดน้ำมันหอมออกมาให้ได้ 1 ลิตร
แต่เนื่องจาก Melissa มีกลิ่นที่คล้ายคลึงกับ Lemongrass กับ Citronella จึงมีผู้ค้าบางรายที่นำน้ำมันหอมระเหยราคาถูกนี้มาผสมกันให้ได้กลิ่นใกล้เคียงกับน้ำมันหอมระเหยราคาแพง หรือแม้แต่น้ำมันหอมระเหยดอกกุหลาบ ที่สามารถนำ Palmarosa มาผสมกับน้ำมันบางตัว เช่น Geranium หรือ Isolate บางตัวที่ได้จากน้ำมันหอมระเหยราคาถูก นำมาผสมให้ได้กลิ่นคล้ายคลึงกัน จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ซื้อจะต้องซื้อกับผู้ขายที่เชื่อถือได้เท่านั้น
|
น้ำมันหอมระเหยแท้
100% Pure Essential Oil |
น้ำมันหอมระเหยผสม
Reconstituted Essential Oil |
น้ำมันหอมสังเคราะห์
Synthetic Essential Oil
|
ราคา |
หลักพันถึงหลักแสนบาทต่อ kg. |
หลักพันถึงหลักหมื่นบาทต่อ kg. |
หลักพันบาทต่อ kg. |
ได้มาจาก |
จากพืชชนิดนั้น ๆ โดยตรง |
ผสมจากน้ำมันหอมระเหย
ราคาถูก |
กลิ่นสังเคราะห์จากสารเคมีต่าง ๆ |
กลิ่นหอม |
มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ |
มีกลิ่นหอมใกล้เคียงกับของแท้ |
มีกลิ่นหอมจากการสังเคราะห์ |
ผลต่อร่างกาย |
สลายตัวง่ายและปลอดภัย |
สลายตัวง่ายและปลอดภัย |
อาจตกค้างและไม่ดีในระยะยาว |
ผลทางจิตบำบัด |
มีผลตรงตามข้อมูลของพืชชนิดนั้น |
ไม่ตรงตามข้อมูลของพืชชนิดนั้น |
ไม่มี |
ผลทางความงาม |
มีผลตรงตามข้อมูลของพืชชนิดนั้น |
ไม่ตรงตามข้อมูลของพืชชนิดนั้น |
ไม่มี |
ผลทางการแพทย์ |
มีผลตรงตามข้อมูลของพืชชนิดนั้น |
ไม่ตรงตามข้อมูลของพืชชนิดนั้น |
ไม่มี |
|
|
|
แหล่งผลิตน้ำมันหอมระเหยทั่วโลก |
|
|
การหาน้ำมันหอมระเหยที่ดีที่สุดแต่ละชนิด ก็ต้องมาจากแหล่งผลิตที่อยู่ในถิ่นกำเนิดของพืชชนิดนั้น ๆ อย่างเช่น ลาเวนเดอร์ คาโมไมล์ กุหลาบดามัส แหล่งผลิตที่ดีที่สุดก็ต้องเป็นประเทศแถบยุโรป เช่น ฝรั่งเศส บัลแกเรีย อังกฤษ ถึงแม้ว่า จีนหรืออินเดีย จะสามารถผลิตได้เช่นกัน แต่คุณภาพของน้ำมันหอมระเหย ที่ปลูกในสภาพแวดล้อมแตกต่างกัน ก็จะให้คุณภาพที่แตกต่างกันไป บัลแกเรียเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าผลิตน้ำมันหอมระเหยกุหลาบ และลาเวนเดอร์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก น้ำมันหอมระเหยแซนเดิ้ลวูดพันธ์ที่ดีที่สุดต้องมาจากประเทศอินเดีย ทีทรี มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่ออสเตรเลีย น้ำมันที่สกัดจากยาง หรือเรซิน อย่างเช่น เมอร์ แฟรงคินเซนส์ มีแหล่งผลิตอยู่ในแถบแอฟริกา หรือจากอังกฤษ ที่มีการนำเข้าวัตถุดิบยางหรือเรซินจากแอฟริกามากลั่นเอง หรือในประเทศไทยก็อย่างเช่นน้ำมันหอมระเหยของ ขิง ข่า ตะไคร้ มะกรูด ไพล ขมิ้น เป็นต้น
ทุ่งดอกลาเวนเดอร์ในประเทศฝรั่งเศส |
คาโมไมล์ในฤดูเก็บเกี่ยวที่ประเทศอังกฤษ |
เครื่องกลั่นน้ำมันหอมระเหย
|
|
|
|
|
|
|
GC/MS Analysis (Gas Chromatography / Mass Spectrometry Analysis) คือกระบวนการวิเคราะห์องค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหยทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ (Qualitative & Quantitative) เพื่อให้ทราบถึงชนิดและปริมาณขององค์ประกอบทางเคมีที่มีอยู่ในน้ำมันหอมระเหยที่นำมาทดสอบ และสามารถนำผลการทดสอบมาใช้ในการจำแนกว่าน้ำมันหอมระเหยที่ได้นั้นว่าเป็นของแท้ หรือมีการเจือปนหรือไม่ และมีคุณภาพดีเพียงใด ปัจจุบันในประเทศไทยเครื่องมือนี้มีทั่วไปตามห้องปฏิบัติการทดลองของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ แต่บางแห่งไม่ได้ให้บริการแก่บุคคลภายนอก ผู้ต้องการทดสอบสามารถขอรับบริการได้ที่หน่วยงานราชการหรือเอกชนที่มีการให้บริการ
แต่ต้นทุนการให้บริการยังมีราคาแพง ตกอยู่ประมาณ 4,000 บาทต่อการทดสอบ 1 ตัวอย่าง (ราคาอิงจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย 2550) ในขณะที่ค่าบริการในต่างประเทศจะถูกกว่าเกือบเท่าตัว ตกอยู่ที่ประมาณ $50-$80 เหรียญสหรัฐ
GCMS Machine |
ค่าองค์ประกอบของน้ำมันหอมระเหยกระชาย |
|
|
|
คำศัพท์เกี่ยวกับน้ำมันหอมระเหยที่มักได้ยินบ่อย ๆ |
|
|
|
|
|